วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด "เจเนอเรชั่นสั่งลาท่านเซอร์"


สิ่งที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าสำหรับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด นาทีนี้ คือการเป็นแชมป์หมายเลขหนึ่งของอังกฤษ...แต่ยังห่างชั้นจากทีมหมายเลขหนึ่งของโลก บาร์เซโลน่า อย่างน่าเหลือเชื่อ 



เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน บอกไว้หลังเกมชิงชนะเลิศยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ซีซั่นที่แล้ว ว่าขอเวลาอีกประมาณ 3 ปี เพื่อไล่ให้ทัน บาร์ซ่า 
เพราะฉะนั้น นั่นหมายความว่า เฟอร์กี้ มองไกลกว่าบัลลังก์ในประเทศไปแล้ว...
 จากที่ฟุตบอลอังกฤษเคยเป็นเรื่องของ ''ลิเวอร์พูล และทีมอื่นๆ'' 2 ทศวรรษหลังมานี้ มันคือเรื่องของ ''แมนฯ ยูไนเต็ด และทีมอื่นๆ'' ไปแล้ว 
ฟากสีแดงแห่งแมนเชสเตอร์ พัฒนาตัวเองแบบก้าวกระโดดเมื่อ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน โยกเข้ามาจาก อเบอร์ดีน โดยแม้ว่าช่วงแรกจะขลุกขลัก โค้ชสกอตติชต้องได้รับการผ่อนปรน เปิดโอกาสให้ทำงานต่อจากบอร์ดบริหาร แต่เมื่อตั้งหลักได้แล้ว ยูไนเต็ด ที่ไม่มีแชมป์ลีกสูงสุดติดมือมาตั้งแต่ปี 1967 ก็ฟาดแชมป์ครั้งแรกในซีซั่น 1992/93 ซึ่งเป็นปีแรกที่ พรีเมียร์ลีก เปิดตัวขึ้นด้วย
 จากนั้นเป็นต้นมา ยูไนเต็ด ที่ถูกหยามหยันจาก ลิเวอร์พูล ว่าถึงอย่างไรก็ยังต้องเป็นเบอร์สองของประเทศต่อไป ในเมื่อ ลิเวอร์พูล ยืนแท่นแชมป์ 18 สมัยตั้งแต่ปี 1990 ก็เริ่มลดช่องว่างลงทีละน้อย ทีละปี ช่วงห่างถูกลดลงสวนทางกับตัวเลขคริสตศักราชที่มากขึ้น - ในขณะที่ ลิเวอร์พูล หยุดนิ่งไม่ไหวติงมาตั้งแต่ครั้งล่าสุดนั่น  


 กระทั่งตามทันเทียบเท่าในซีซั่น 2008/09
 แล้วตัวเลข 19, ส่ง ยูไนเต็ด ขึ้นโพเดียมเบอร์ 1 อย่างเป็นทางการ, ก็มาถึงเมื่อสิ้นเสียงนกหวีดสุดท้ายของ 2010/11 (2009/10 ก็เข้าใกล้เลข 19 ชนิดหายใจรดต้นคอ แต่การแพ้ เชลซี คาบ้านในเดือน เม.ย. ก็ทำให้แชมป์ไปอยู่ในกรุงลอนดอน ปีศาจแดงขาดไปเพียงแต้มเดียว แม้ เวย์น รูนี่ย์ จะตะบัน 26 ตุงก็ตาม)
 ทว่าก็นั่นแหละ ถึงแชมป์พรีเมียร์จะอยู่กับ แมนฯ ยูไนเต็ด (ทั้งที่ชนะนอกบ้านแค่ 5 นัด) แต่พอเจอของจริงอย่าง บาร์ซ่า แล้ว ก็ต้องชอกช้ำเหมือนที่เคยเป็นมา

ซัมเมอร์ 2011 เฟอร์กี้ ต้องเจอกับความผันผวนในเรื่องขุมกำลัง ถัดจาก แกรี่ เนวิลล์ ที่แขวนสตั๊ดไปในหว่างซีซั่น เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ กับ พอล สโคลส์ ก็บอกเลิกศาลาไปติดๆ กัน นั่นก็รวมถึง โอเว่น ฮาร์กรีฟส์ มิดฟิลด์คนสำคัญของทีมแชมป์ยุโรป 2008 ด้วย ที่หมดสัญญา และสภาพร่างกายย่ำแย่เกินทน
นักเตะใหม่ที่ดึงเข้ามาอย่าง ดาบิด เด เคอา, ฟิล โจนส์ และ แอชลี่ย์ ยัง ล้วนแล้วแต่อายุยังน้อย (แอชลี่ย์ ยัง เพิ่ง 26 ไม่มากเท่าไรเช่นกัน) ซึ่งเมื่อผนวกกับบรรดาเด็กปั้นอย่าง ทอม เคลฟเวอร์ลี่ย์, แดนนี่ เวลเบ็ค รวมถึง คริส สมอลลิ่ง, คู่แฝด ราฟาเอล-ฟาบิโอ ดา ซิลวา และซูเปอร์สตาร์ที่อายุไม่มากเลยอย่าง เวย์น รูนี่ย์, นานี่, ชิชาริโต้ เอร์นานเดซ แล้ว ค่าเฉลี่ยทีมชุดนี้ของ ยูไนเต็ด จึงนับว่าน้อยมาก--แม้จะมี ไรอัน กิ๊กส์ หรือ ริโอ เฟอร์ดินานด์ คอยทานอยู่--ก็สามารถพูดได้ว่า อนาคตของ ยูไนเต็ด ชุดนี้ ย่อมทอดไปอีกยาวไกล  
 ที่สำคัญ ยังดูเหมือนว่า เฟอร์กี้ จะพยายามให้ทีมเน้นการต่อบอลสวยงามบนพื้นมากขึ้น เน้นความฉับไว การเคาะบอลสลับซับซ้อน และสปีดของเกมรุก ตั้งแต่ช่วงปรีซีซั่นที่สหรัฐอเมริกา ต่อมายังเกมคอมมิวนิตี้ ชิลด์ 2011 ที่พลิกชนะ ซิตี้ 3-2 จนมีหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า นี่คือความพยายามสร้างทรงบอลที่จะรอไว้เอาชนะ บาร์เซโลน่า ให้ได้ในอนาคต
เฟอร์กี้ กำลังเข้าใกล้เลข 70 ไปทุกขณะ ไม่มีใครรู้ว่า เขาจะยังนั่งเก้าอี้นายใหญ่แห่งโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ไปอีกนานสักเท่าไร (ท่านเซอร์บอกเองว่า จะคุมต่อตราบใดที่ยังฟิตดี ไม่ป่วยไข้...แต่กับชายชราอายุ 70...)
 ถ้าอย่างน้อยสุด มันจะไม่เกิน 3-4 ปี เราคงสามารถเชื่อได้ว่า นี่คือการสร้างทีมเจเนอเรชั่นสุดท้ายของจอมคนจากแดนวิสกี้แล้ว 


 และเป้าหมายสูงสุดไม่ได้อยู่ที่แชมป์ลีกอังกฤษอีกต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น